วันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

วิธีออมเงินอย่างมนุษย์เงินเดือนมืออาชีพ

วิธีออมเงินอย่างมนุษย์เงินเดือนมืออาชีพ


การใช้ชีวิตโดยปราศจากการวางแผน ถือเป็นการใช้ชีวิตที่ค่อนข้างเสี่ยง โดยเฉพาะในเรื่องการเงินด้วยแล้ว หากไม่ได้มีการจัดระบบกันให้ดี เมื่อรู้ตัวอีกทีก็อาจสายเสียแล้ว เพราะเรากำลังพบว่าตัวเองกำลังประสบกับปัญหาทางการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องยอมรับว่ามนุษย์เงินเดือนส่วนหนึ่งยังไม่สามารถบริหารการเงินได้ดีพอ เราจึงมักจะพบว่าคนทำงานบางส่วนมีปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง เป็นหนี้บัตรเครดิต และที่แย่ที่สุด คือ ไม่มีเงินเก็บไว้ใช้ในยามที่จำเป็น ต้องขอหยิบยืมจากคนอื่น และติดหนี้กันจนวุ่นวาย
          แต่เชื่อหรือไม่ว่าปัญหาด้านการเงินที่เกิดจากการจัดการที่ไม่เป็นระบบ เราสามารถรับมือกับมันได้ หากรู้จักวางแผน และใส่ใจกับอนาคตทางด้านการเงินของตัวเองให้มากขึ้นกว่าเดิม มนุษย์เงินเดือนส่วนหนึ่งมักจะพบกับคำถามที่ว่าไม่รู้จะเริ่มต้นจัดการด้านการเงิน และออมเงินอย่างไร? เพราะในแต่ละวันนั้นก็มีค่าใช้จ่ายที่มากมาย จนไม่รู้ว่าจะเริ่มจากจุดไหนดี
          วิธีการวางแผนการเงินอย่างมืออาชีพ สามารถเริ่มต้นด้วยวิธีการออมเงินเหล่านี้ ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถนำมาใช้ได้จริง และไม่ยากเกินความสามารถจนเกินไป
ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
          คนทำงานหลายคนอาจจะรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งจำเป็นทั้งสิ้น ยากที่จะตัดสินใจได้ว่าอันไหนบ้างที่เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องวางแผนทางการเงินแล้ว เราก็จะเห็นได้อย่างง่ายดายว่าค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นมาจากหลาย ๆ อย่าง เช่น ค่าอาหารราคาแพง ค่าช้อปปิ้ง ค่าเสื้อผ้า ค่าสังสรรค์ในงานปาร์ตี้ ซึ่งบางครั้งอาจจะลดปริมาณการซื้อ หรือใช้จ่ายให้น้อยลง แต่ก็ไม่ถึงกับจะหยุดซื้อเสียทีเดียว หากเราสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้ เราก็จะมองเห็นเงินออมอย่างแน่นอน

ออมก่อนค่อยใช้
          หลายคนเลือกที่จะใช้ก่อน เหลือเท่าไรแล้วค่อยเก็บออม ซึ่งนั่นอาจจะไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องนัก เราควรหันมาใช้วิธีออมก่อนแล้วค่อยใช้ จะทำให้เรามีเงินเหลือเก็บมากขึ้น เพราะเราได้กันเงินส่วนหนึ่งออกไปแล้ว เราก็จะใช้เงินได้อย่างรู้สึกอุ่นใจมากขึ้น ในขณะเดียวกัน เราก็อาจจะใช้วิธีเปิดบัญชีเงินฝากประจำร่วมด้วย เพื่อช่วยเก็บออมเงิน โดยไม่นำเงินส่วนนี้มาใช้ และเป็นการสร้างวินัยการออมเงินให้กับตัวเอง
 ตั้งเป้าหมายในการออมเงิน
          ในช่วงที่เราเริ่มต้นออมเงิน ให้ลองทำบันทึกรายรับรายจ่ายร่วมด้วย เพื่อให้เห็นว่าในแต่ละวัน หรือแต่ละเดือน เราใช้จ่ายเงินไปเท่าไร และมีเงินเหลือเก็บเท่าใด แล้วให้เริ่มตั้งเป้าหมายในการออมเงินให้กับตัวเองว่า เราจะนำเงินที่ได้ไปทำอะไร เพื่อสร้างกำลังใจในการออมเงินให้กับตนเอง เช่น เราอาจจะตั้งเป้าหมายไว้ว่า เราจะเก็บเงินซื้อบ้านซื้อรถ สำหรับค่าเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ วิธีการนี้จะช่วยให้เราเข้าใกล้เป้าหมายในการออมได้ง่ายขึ้น เพราะในท้ายที่สุดแล้ว เราจะรู้ว่าเราจะมีความสุขกับเงินออมก้อนนี้
ลงทุนบางส่วนกับกองทุน
          หากเรามีเงินเก็บเหลือบางส่วน ให้ลองนำเงินจำนวนนี้มาลงทุนกับกองทุนต่าง ๆ ดู ไม่ว่าจะเป็น RMF LTF หรือกองทุนอื่น ๆ ที่เรามีความสนใจ แต่ก่อนการลงทุน เราเองก็ต้องศึกษาข้อมูลให้ดี ทั้งในแง่ของความเสี่ยง และความคุ้มค่าของการลงทุนก่อนด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วอาจจะมีปัญหาตามมาในภายหลังได้ การลงทุนนั้นให้เลือกลงทุนตามความเสี่ยง และจำนวนเงินเหลือเก็บ และต้องมั่นใจว่าเป็นเงินที่เราจ่ายไปแล้วเราไม่เดือดร้อน เงินที่จะนำมาใช้จ่ายในส่วนนี้ ต้องไม่เกี่ยวข้องกับเงินที่เราใช้จ่ายในแต่ละวัน ไม่เช่นนั้นแล้ว เราอาจจะเจอกับปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลังได้เช่นกัน
สมทบเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เต็มที่
          หลาย ๆ บริษัทจะให้สิทธิกับพนักงานในการเลือกการสมทบเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเอง โดยเลือกได้ว่าจะสะสมเงินเท่าใด เพราะเมื่อเรายิ่งหักเงินสะสมมาก เราก็จะมีเงินเก็บมากขึ้น ยิ่งเราเลือกอัตราสะสมที่สูง บริษัทก็จะยิ่งส่งเงินสะสมในอัตราที่สูงตามไปด้วย กองทุนสำรองเลี้ยงชีพถือเป็นการออมเงินอย่างหนึ่งสำหรับมนุษย์เงินเดือน ดังนั้น หากมีโอกาสก็ควรเลือกช่องนี้เป็นตัวช่วยหนึ่งในการออมเงินด้วยก็จะดียิ่ง
          ปัญหาด้านการเงินก็จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป หากเรารู้จักวางแผนและใช้เงินอย่างเป็นระบบ ไม่เพียงแต่จะช่วยจัดการกับปัญหาเดิม ๆ เรื่องการใช้จ่ายเงินอย่างเกินตัวได้เท่านั้น แต่การออมเงินยังช่วยให้เรามีเงินสะสมเพิ่มมากขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว และจะเป็นประโยชน์มากขึ้นในบั้นปลายการเป็นมนุษย์เงินเดือนของเราอีกด้วย

ข้อมูลจาก http://th.jobsdb.com/



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น